สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย
- Details
- Category: Allergy Zone
สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ (Aeroallergen) เป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดโรค และเป็นตัวกระตุ้นสำคัญตัวหนึ่ง จากการศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการศึกษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืดและโพรงจมูกอักเสบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 – 2547 พบว่าสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ อันดับแรกยังคงเป็นไรฝุ่น (62.6-70.7%) รองมาเป็นฝุ่นบ้าน (54.4-63%) แมลงสาบ (36.9-41.3%) เชื้อรา (19.6-38.3%) เกสรหญ้า (11.9-17.4%) และขนรังแคสัตว์เลี้ยง (10.3-15.2%) โดยผู้ที่เป็นทั้ง 2 โรคจะให้ผลบวกมากกว่าผู้ที่เป็นเพียงโรคเดียว
สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการภูมิแพ้เลยจะแพ้ได้หรือไม่พบว่า จากการศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการศึกษาในอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่ไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้จำนวน 100 คนใน ปีพ.ศ.2547 พบว่าอาสาสมัครปกติให้ผลบวกต่อการทดสอบผิวหนังแบบสะกิด (Skin prick test for aeroallergen) ได้สูงถึง 42% โดยมีผู้ที่ให้ผลบวกต่อสารก่อภูมิแพ้สูงสุดถึง 7 ชนิดจาก 16 ชนิด
สารก่อภูมิแพ้ที่ให้ผลบวกมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ ไรฝุ่น (33%) รองมาคือฝุ่นบ้าน (23%) และแมลงสาบ (20%) แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะผู้ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบ 3+ ขึ้นไปต่อสารอย่างน้อย 1 ชนิด พบว่าอาสาสมัครปกติให้ผลบวกต่อการทดสอบเพียง 19% (พบส่วนใหญ่ใน house dust และ mite)
จากการศึกษาจากต่างประเทศในอดีตพบว่าประชากรทั่วไปที่ไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้สามารถให้ผลบวกต่อ Allergy skin test ได้ถึงร้อยละ 3-50 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ Allergenic extract อายุ เชื้อชาติ ที่อยู่ โดยพบว่าร้อยละ 30-60 จะเป็นโรคภูมิแพ้ได้ในอนาคตขึ้นกับสารที่แพ้และระยะเวลาที่ติดตามผล อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ในผู้ที่ไม่มีอาการ