การฉีดวัคซีนภูมิแพ้
- Details
- Category: Allergy Zone
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy) คือการให้สารก่อภูมิแพ้ (specific allergen) แก่ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ที่เกิดจากปฏิกิริยาทาง IgE โดยให้หลายๆ ครั้งและเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดอาการเมื่อต้องเจอกับสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ
ปัจจุบันมีโรคที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถรักษาด้วยวิธี Allergen Immunotherapy ได้อยู่ 3 โรค ได้แก่
- Allergic rhinitis
- Allergic asthma
- Stinging insect hypersensitivity
ส่วนข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธี Allergen Immunotherapy ได้แก่
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งอาจมีอันตรายถ้าเกิดผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้ ผู้ป่วยโรคหอบที่มีค่า FEV1 < 70% ผู้ป่วยที่มี organ failure เช่น ตับวาย ไตวาย โรคปอดรุนแรง เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่ได้รับยา Beta blocker เนื่องจากทำให้การรักษา anaphylaxis ได้ผลไม่ดี
- หญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นในช่วง maintenance phase
วิธีการรักษา
ทำได้โดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ให้แก่ผู้ป่วยโดยมักฉีดเข้าในชั้นใต้ผิวหนัง subcutaneous เริ่มจากความเข้มข้นน้อยๆ ก่อนและค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ (induction phase) สัปดาห์ละครั้งจนถึงความเข้มข้นที่ต้องการจึงจะฉีดห่างออกไปเป็น 4-6 อาทิตย์ต่อครั้ง (maintenance phase) หลังฉีดผู้ป่วยต้องนั่งรอที่คลินิกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อสังเกตอาการและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก่อนจะอนุญาตให้กลับได้ และในคลินิกจะต้องมียาและอุปกรณ์เตรียมพร้อม ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้นหลังจากเข้าสู่ maintenance phase ประมาณ 1 ปี และจะทำการักษาต่อจนครบ 3-5 ปีจึงจะพิจารณาหยุดฉีด
ประสิทธิภาพในการรักษา
การรักษาด้วยวิธี Allergen Immunotherapy สามารถลดอาการของผู้ป่วย (symptom score) ลดการใช้ยาของผู้ป่วย และลดความไวของหลอดลม (bronchial hyperresponsiveness) ต่อสารก่อภูมิแพ้ได้และในบางการศึกษายังพบว่าผู้ป่วยมีสมรรถภาพปอดที่ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าสามารถลดการเกิดการแพ้สารก่ภูมิแพ้ตัวใหม่ได้ (new sensitization to allergen) และในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโพรงจมูกอักเสบ (allergic rhinitis) สามารถลดอัตราการเกิดโรคหอบหืด (allergic asthma) ในอนาคตด้วย (28% ในผู้ที่ได้รับการรักษาเปรียบเทียบกับ 78% ในกลุ่มควบคุม)
ผลข้างเคียงจากการรักษา
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีได้ทั้งผลข้างเคียงเฉพาะที่ (local reaction) และชนิดที่เกิดทั่วร่างกาย (systemic reaction) สำหรับ local reaction คือมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยานั้นมีทั้งแบบที่เกิดขึ้นทันทีภายใน 15-20 นาที และแบบที่เกิดภายหลังจากฉีด 3-6 ชั่วโมง ซึ่งทั้งสองแบบไม่มีอันตรายร้ายแรงและสามารถหายได้เอง โดยมีอัตราการเกิด 2.48-10.5% ส่วน systemic reaction นั้นมีอัตราการเกิดประมาณ 2-3% ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วต้องได้รับการรักษาอย่างทันที