คำถามที่พบบ่อย
- Details
- Category: Allergy Zone
Q & A Allergy
1. Allergic Symptoms
Q : โรคภูมิแพ้คืออะไร
A : โรคภูมิแพ้คือ กลุ่มโรคที่ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากผิดปกติ โดยโรคที่พบบ่อยเช่น แพ้อากาศ (allergic rhinitis)
โรคหอบหืด (asthma) โรคผื่นผิวหนังภูมิแพ้เรื้อรัง (atopic dermatitis) แพ้อาหาร (food allergy) เป็นต้น
Q : ใครที่มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้
A : ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าคนปกติ นอกจากนี้การที่ต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้มากๆ ก็อาจเป็น สาเหตุได้
Q : จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่
A : ถ้าท่านมีอาการ เช่น มีน้ำมูกไหลประจำ คันตา คันจมูก จามบ่อย หายใจลำบาก หอบ มีผื่นลมพิษตามตัว ก็ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคภูมิแพ้ได้
Q : สามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม
A : ปัจจุบันการรักษาเน้นที่การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ซึ่งจะทราบได้จากการทำการทดสอบภูมิแพ้รักษาร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนการรักษาที่มีโอกาสหายขาดได้คือการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ซึ่งทำได้ในโรคแพ้อากาศ (allergic rhinitis) และหอบหืด (asthma)
2. Skin Test
Q : การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังคืออะไร
A : การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคภูมิแพ้จำเป็นต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะ (specific IgE) ต่อสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัยหรือไม่ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือด ได้แก่ การตรวจ RAST (Radioallergosorbent test) หรือการตรวจในผู้ป่วยโดยตรงได้แก่ การการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin test) โดยทั่วไปแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางภูมิแพ้มักทำการตรวจ skin test เพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว และสิ้นเปลืองน้อย อีกทั้งยังมีความไวและความจำเพาะสูง
Q : วิธีการทำอย่างไร
A : การตรวจทำได้โดยการหยดสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ (extract) ลงบนผิวหนังและใช้เข็มสะกิดผิวหนังผ่านหยดสารสกัดโดยสะกิดเบาๆ ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที อ่านผลโดยวัดขนาดของรอยบวม (wheal) หรือร่วมกับรอยแดง (flare) ที่เกิดขึ้น ใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณครึ่งชั่วโมง
Q : การเตรียมตัวก่อนทำการทดสอบ
A : ก่อนทำการตรวจ ผู้รับการตรวจจะได้รับคำแนะนำให้หยุดยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด และยาอื่นๆ ที่อาจมีผลทำให้ผลการตรวจผิดพลาดเป็นเวลาอย่างน้อย 3-7 วัน และงดการใช้ยาครีมเสตียรอยด์ทาบริเวณที่จะทำการทดสอบอย่างน้อย 2 สัปดาห์
Q : มีการทดสอบสารแพ้ตัวใดบ้าง
A : ทางคลินิกภูมิแพ้มีการทำ skin test 2 ชุด
1. ชุดแรกเกี่ยวกับการหายใจ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น เกสร เชื้อรา ขนสัตว์ และอื่นๆ
2. ชุดที่สองเกี่ยวกับการอาหารที่รับประทาน เช่น นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล และอื่นๆ
3. Immunotherapy
Q : การฉีดวัคซีนภูมิแพ้คืออะไร
A : การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (immunotherapy) เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคภูมิแพ้ เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เป็นวิธีการรักษาที่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายได้ หรือสามารถลดยาที่ใช้ลงได้โดยในผู้ป่วยบางคนอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาอย่างอื่นเลย
Q : สามารถใช้รักษาโรคใดได้บ้าง
A : โรคภูมิแพ้ทางจมูก โรคหืด โรคภูมิแพ้ทางตา การแพ้รุนแรงจากแมลงกัดต่อย
Q : วิธีการทำอย่างไร
A : โดยการฉีดสารสกัดที่พิสูจน์แล้วว่าผู้ป่วยแพ้เข้าสู่ร่างกายทีละน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ภายหลังฉีดแพทย์จะเฝ้าระวังปฏิกิริยาในแต่ละครั้ง บันทึกผล หลังจากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณสารก่อภูมิแพ้ขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยสามารถทนต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ ได้คือมีอาการทางภูมิแพ้น้อยลงหรือไม่มีอาการ โดยทั่วไปมักใช้เวลาในการฉีดมากกว่า 1 ปีติดต่อกันจึงจะได้ผลการรักษาที่ดีและควรได้รับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ต่อไป อีกประมาณ 3-5 ปี
Q : มีผลข้างเคียงหรือไม่
A : การรักษาด้วยวิธีนี้อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาภายหลังฉีดทันทีโดยอาจทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บและมีอาการเฉพาะที่ ได้แก่ บวม คัน บริเวณที่ฉีด หรือในบางรายอาจเกิดปฏิกิริยารุนแรงทั้งตัวจนเกิดภาวะช็อค หลอดลมตีบได้ (systemic reaction) แต่พบลักษณะดังกล่าวน้อยมาก
A : ผู้ที่รับการรักษาหลังฉีดยาให้นั่งรอสังเกตอาการที่คลินิกประมาณ 30 นาที เพื่อดูว่ามีปฏิกิริยาข้างเคียงเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น อาการบวม ผื่นขึ้นหายใจไม่สะดวก หน้ามืด ฯลฯ ถ้ามีให้รายงานแพทย์ทันที
A : ไม่ควรบีบนวดบริเวณที่ฉีดยา หรือออกกำลังกายหนักในวันที่ฉีดยา เพราะอาจทำให้ยาแพร่กระจายเร็วเกิดภาวะแพ้รุนแรงได้
A : ไม่ควรฉีดยาในวันที่มีอาการไม่สบาย มีไข้ หรือมีอาการหอบหืด